ประวัติความเป็นมา

ยุคที่ 1 วิทยาลัยครูเชียงราย

วันที่ 11 กันยายน 2512

          จังหวัดเชียงราย ได้เสนอเรื่องขอตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาต่ออธิการบดีกรมการฝึกหัดครู โดยเสนอให้ใช้บริเวณอ่างเก็บน้ำหนองบัว ตำบลบ้านดู่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย เป็นสถานที่ในการจัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูเชียงราย

วันที่ 30 มิถุนายน 2515

          นายสาโรช บัวศรี อธิการบดีกรมฝึกหัดครูขณะนั้น ได้มีหนังสือแจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายว่ากรมการฝึกหัดครู เห็นสมควรให้ตั้งสถานฝึกหัดครูตามเสนอ และรอการอนุมัติงบประมาณประจำปี 2516 เพื่อดำเนินงานก่อสร้างต่อไป

วันที่ 29 กันยายน 2516

          ได้มีการสถาปนาวิทยาลัยครูเชียงรายขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี พร้อมทั้งแต่งตั้งให้ นายบัณฑิต วงษ์แก้ว จากวิทยาลัยครูมหาสารคาม มาดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการเป็นคนแรก โดยมีการเปิดอบรมเพื่อการศึกษาระหว่างปิดภาคเรียนฤดูร้อน (อ.ศ.ร) ให้แก่ข้าราชการครู ในจังหวัดเชียงรายและจังหวัดใกล้เคียง ประมาณ 1,500 คน เป็นครั้งแรก

วันที่ 2 มีนาคม 2520

          มีพระราชกฤษฎีกาประกาศยกฐานะวิทยาลัยครูที่ประกาศจัดตั้งใน พ.ศ 2516 เป็นสถาบันการศึกษาและวิจัย สามารถเปิดสอนได้ถึงระดับปริญญาและพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ นายวิเชียร เมนะเศวต ดำรงตำแหน่งอธิการบดีเป็นคนแรก

ในปี พ.ศ. 2528

          มีประกาศกระทรวงศึกษาธิการ แบ่งส่วนราชการในวิทยาลัยครูเชียงราย เพื่อให้สอดคล้องกับภาระกิจของวิทยาลัยครูตามพระราชบัญญัติวิทยาลัยครู พ.ศ. 2518 โดยแบ่งส่วนราชการของวิทยาลัยครูแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2527 โดยแบ่งส่วนราชการของวิทยาลัยครูเชียงราย ดังนี้

          1. สำนักงานอธิการบดี 
          2. คณะวิชาครุศาสตร์
          3. คณะวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 
          4. คณะวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ 
          5. คณะวิชาวิทยาการจัดการ 
          6. สำนักงานวางแผนแลพัฒนา 
          7. สำนักงานส่งเสริมวิชาการ 
          8. สำนักงานกิจการนักศึกษา 
          9. ศูนย์วิจัยและบริการการศึกษา 
          10. ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม

ต่อมา สภาการฝึกหัดครูได้ประกาศข้อบังคับสภาการฝึกหัดครู พ.ศ.2528 ว่าด้วยให้วิทยาลัยครูรวมกันเป็นกลุ่ม เรียกว่า สหวิทยาลัย และกำหนดให้วิทยาลัยครูเชียงราย รวมอยู่ในกลุ่มสหวิทยาลัยล้านนา ซึ่งประกอบไปด้วย วิทยาลัยครูเชียงใหม่ วิทยาลัยครูเชียงราย วิทยาลัยครูลำปาง และวิทยาลัยครูอุตรดิตถ์

ยุคที่ 2 สถาบันราชภัฏเชียงราย

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2535

          พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อสถาบันฝึกหัดครูว่า “สถาบันราชภัฏ” จากวิทยาลัยครูเดิม เพื่อให้สอดคล้องกับความหลากหลายของการผลิตบัณฑิต โดยให้สถาบันราชภัฏเชียงราย เป็นส่วนราชการในสำนักงานสภาสถาบันราชภัฏ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และให้สำนัก สภาสถาบันราชภัฏ เป็นนิติบุคคลมีฐานะเทียบเท่ากรมในกระทรวงศึกษาธิการ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2538 โดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุเทพ พงษ์ศรีวัฒน์ ดำรงตำแหน่งอธิการบดีคนแรกของสถาบันราชภัฏเชียงราย ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2538

วันที่ 6 มีนาคม 2538

          พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้อัญเชิญตราพระราชลัญจกรส่วนพระองค์ เป็นตราประจำสถาบันราชภัฏ

ยุคที่ 3 มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย

วันที่ 10 มิถุนายน 2547

                    พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถ ทรงลงพระปรมาภิไธย ในพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547 และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2547 ส่งผลให้สถาบันราชภัฏเชียงราย ได้รับการยกฐานะและปรับเปลี่ยนสถานภาพเป็น “มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย” ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา

ปัจจุบัน

                    มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย มีฐานะเป็นนิติบุคคล เป็นส่วนราชการสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศรชัย มุ่งไธสง ดำรงตำแหน่งอธิการบดี โดยปัจจุบันมหาวิทยาลัยได้มีการพัฒนาอย่างรุดหน้าทั้งด้านการจัดการศึกษา การวิจัย การบริการวิชาการ การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และการบริหารจัดการ ภายใต้วิสัยทัศน์ สถาบันแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน